เศรษฐีตกยาก: เกี่ยวหญ้าทำทานยามไร้สมบัติ

       วันนี้เรามาศึกษาการให้ทานตามอย่างพระโพธิสัตว์กันค่ะ แล้วเราจะเข้าใจว่าทำทานหมดใจ กับหมดตัวนั้น เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?  


        คนปุถุชนเดินดินจะไม่อาจเข้าใจหัวใจของพระโพธิสัตว์ได้ เนื่่องจากพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตกาลทั้งหลายมีความเห็นตรงกันว่า ก้าวแรกที่จะทำให้สร้างบารมี สร้างความดีเป็นพระพุทธเจ้าได้ คือ ทานบารมี และพิจารณาเห็นว่าบารมีต่อๆ มาตามลำดับ คือ ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี เพราะทานบารมีเป็นบารมีแรกและเป็นบารมีที่สำคัญยิ่ง ที่จะเสริมการบำเพ็ญบารมีอื่นๆ ให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
        วิสัยหเศรษฐี
        ในอดีตกาล พระนางพิมพาเกิดเป็นภริยา ส่วนพระโพธิสัตว์เกิดเป็นสามี เป็นวิสัยหเศรษฐี
ทั้งสองเป็นเศรษฐี มีทรัพย์สมบัติทั้งสิ้นถึง ๘๐ โกฏิ เป็นผู้ประกอบศีล ๕ และมีอัธยาศัยในการให้ทานเป็นอย่างยิ่ง จึงได้สร้างโรงทานไว้ถึง ๖ แห่ง คือ ที่ประตูเมืองทั้ง ๔ ประตู ที่กลางพระนคร และที่ประตูบ้านของตน ท่านเศรษฐีและภริยาให้ทานคิดเป็นทรัพย์วันละหกแสนทุกวัน
         อานุภาพของการบริจาคทานของวิสัยหเศรษฐีกับภริยานั้น ทำให้ภพของท้าวสักกเทวราชสั่นไหว บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์แสดงอาการร้อน ท้าวสักกเทวราชทรงตรวจดูเห็นวิสัยหเศรษฐีทำบุญใหญ่ จึงเกรงไปว่าหากวิสัยหเศรษฐีทำบุญให้ทานเช่นนี้ต่อไป ตำแหน่งองค์อัมรินทราธิราชของพระองค์อาจเคลื่อน แล้วเศรษฐีจะมาเป็นท้าวสักกะแทนพระองค์
         ดำริดังนั้นแล้ว ท้าวสักกเทวราชจึงบันดาลให้ทรัพย์ของเศรษฐีอันตรธานไปสิ้น เมื่อทรัพย์ของเศรษฐีหายไปหมด บ่าวไพร่ก็กระจัดกระจายแยกย้ายกันไป วิสัยหเศรษฐีและภริยาจึงช่วยกันค้นหาทรัพย์ที่จะนำมาใช้บริจาคทานต่อไปได้ แต่ค้นเท่าไรก็ไม่พบเจอทรัพย์ที่มีค่า เศรษฐีและภริยาช่วยกันค้นหาทรัพย์อีกครั้ง คราวนี้ภริยาเศรษฐีไปพบมัดหญ้าที่คนตัดหญ้าทิ้งไว้ที่ประตู นางจึงเอามัดหญ้านั้นมาให้เศรษฐีดู วิสัยหเศรษฐีเห็นเข้าก็ดีใจ คิดว่านี่แหละคือทรัพย์ที่ใช้บริจาคได้ แล้วเศรษฐีก็ชวนภริยาออกไปเกี่ยวหญ้ามาขาย เอาเงินที่ได้มาบริจาคทาน
         แต่เงินที่ได้จากการขายหญ้านั้นน้อยนัก เมื่อแบ่งส่วนไปให้ทานเสียแล้ว เงินที่เหลืออยู่เป็นค่าอาหารก็ไม่ค่อยจะเต็มอิ่ม วิสัยหเศรษฐีกับภริยาจึงอยู่อย่างอดอยาก พอขึ้นวันที่ ๗ วิสัยหเศรษฐีก็ทนไม่ไหวเป็นลมล้มลง

         ท้าวสักกเทวราชเห็นวิสัยหเศรษฐีเป็นลม จึงมาปรากฏกาย กล่าวเตือนให้เศรษฐีรู้จักประหยัด ยับยั้งการให้ทานลงเสียบ้าง หากเศรษฐีไม่ให้ทานมากเหมือนก่อน พระองค์จะคืนทรัพย์สมบัติให้
วิสัยหเศรษฐีกล่าวยืนยันว่าแม้ต้องเหนื่อยยากและยากจน ก็จะยังให้ทานต่อไป ท้าวสักกเทวราชจึงถามเศรษฐีว่า
"ท่านจะทำทานไปเพื่อประโยชน์สิ่งใด การทำทานของท่านทำให้ทรัพย์ของท่านเสื่อมสูญ พบแต่ความลำบาก หรือเพราะท่านต้องการเทวสมบัติของเรา"
         วิสัยเศรษฐีตอบท้าวสักกเทวราชว่า
"ข้าพเจ้าทำทานนี้มิได้มุ่งหวังมนุษย์ สมบัติ สวรรค์สมบัติ หรือพรหมสมบัติ อีกทั้งมิได้หวังจะตำแหน่งท้าวสักกะของท่าน แต่ข้าพเจ้าปรารถนาโพธิญาน ข้าพเจ้าจึงให้ทาน"



          ท้าวสักกเทวราชได้ฟังดังนั้นก็ชื่นชมยินดีในความปรารถนาของเศรษฐี จึงได้บันดาลให้ทรัพย์สมบัติทั้งหลายของเศรษฐีกลับคืนมาดังเดิม แล้วยังทรงประทานทรัพย์อันมีค่ามากที่สุดจะประมาณไ้ด ให้ไว้ในเรือนของวิสัยหเศรษฐี เพื่อจะได้ทำทานตลอดไป
           ความเป็นผู้มีจิตใจสูงส่ง ประกอบไปด้วยการให้ แม้จะพบอุปสรรคมากมายแต่ก็ไม่หวั่นนไหว ให้อย่างต่อเนื่องและเต็มกำลัง ด้วยผลแห่งบุญนั้นย่อมนำมาซึ่งประโยชน์สุขแห่งตน เปรียบเหมือนดั่งสายน้ำที่มีการถ่ายเทอยู่เสมอ น้ำเก่าไหลไปน้ำใหม่เข้ามา  เป็นน้ำที่ใส สะอาด จิตใจของผู้ให้ก็เช่นเดียวกัน ยิ่งให้ก็ยิ่งใสสะอาดและบริสุทธิ์ ดำรงชีวิตอย่างมีความสุข

อ้างอิง : https://goo.gl/zi4Xip
             พระมหาสุวิทย์ วิชฺเชสโก,ทาน ก้าวแรกแห่งการพัฒนาคุณภาพชีวิต. พิมพ์ครั้งที่ 7, 2551.
เศรษฐีตกยาก: เกี่ยวหญ้าทำทานยามไร้สมบัติ เศรษฐีตกยาก: เกี่ยวหญ้าทำทานยามไร้สมบัติ Reviewed by Mali_Smile1978 on 06:02 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.